อรหันต์ 4, 5, 60

[062]
อรหันต์ 4, 5, 60 (Arahanta: an Arahant; arahant; Worthy One)
  1. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — Sukkhavipassaka: bare-insight worker)
  2. เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชาสาม — Tevijja: one with the Threefold Knowledge)
  3. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญาหก — Chaḷabhiñña: one with the Sixfold Superknowledge)
  4. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา — Paṭisambhidappatta: one having attained the Analytic Insights)
พระอรหันต์ทั้งสี่ในหมวดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงประมวลแสดงไว้ในหนังสือธรรมวิภาค ปริเฉทที่ 2 หน้า 41 พึงทราบคำอธิบายตามที่มาเฉพาะของคำนั้นๆ

แต่ในคัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น 2 อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น 5 อย่างบ้าง ที่เป็น 5 คือ
  1. ปัญญาวิมุต (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — Paññāvimutta: one liberated by wisdom)
  2. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อน แล้วได้ปัญญาวิมุตติ — Ubhatobhāgavimutta: one liberated in both ways)
  3. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชาสาม — Tevijja: one possessing the Threefold Knowledge)
  4. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญาหก — Chaḷabhiñña: one possessing the Sixfold Superknowledge)
  5. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาสี่ — Paṭisambhidappatta: one having gained the Four Analytic Insights)
ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น 2 คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุต เท่านั้น พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวถึงข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวนพระปัญญาวิมุต 5 ประเภท คือ พระสุกขวิปัสสก และท่านผู้ได้ฌาน 4 ขั้นใดขั้นหนึ่งมาก่อนได้บรรลุอรหัตตผล) พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ทั้งนั้น แต่ท่านแยกพระอุภโตภาควิมุตไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก เพราะพระอุภโตภาควิมุตที่ไม่ได้โลกียวิชชาและโลกียอภิญญา ก็มี ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้งสี่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่า และการบรรลุอรหัต

พระอรหันต์ 5 นั้น แต่ละประเภท จำแนกโดยวิโมกข์ 3 รวมเป็น 15 จำแนกออกไปอีกโดยปฏิปทา 4 จึงรวมเป็น 60 ความละเอียดในข้อนี้ จะไม่แสดงไว้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ ผู้ต้องการทราบยิ่งขึ้นไป พึงนำหลักที่กล่าวมาตั้งเป็นเกณฑ์จำแนกได้เอง

วิสุทฺธิ.3/373; วิสุทฺธิ.ฏีกา3/657.
Vism.710.

หมวดธรรม: ทุกะ — หมวด 2 — Groups of Two (including related groups)
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม — พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)