ธรรม 4

[206]
ธรรม 4 (ธรรมทั้งปวงประดามี จัดประเภทตามลักษณะความสัมพันธ์ที่มนุษย์พึงปฏิบัติหรือเกี่ยวข้องเป็น 4 จำพวก อันสอดคล้องกับหลักอริยสัจจ์ 4 และกิจในอริยสัจจ์ 4 — Dhamma: all dhammas [states, things] classified into 4 categories according as they are to be rightly treated)
  1. ปริญไญยธรรม = ธรรมที่เข้ากับกิจในอริยสัจจ์ข้อที่ 1 คือ ปริญญา (ธรรมอันพึงกำหนดรู้, สิ่งที่ควรรอบรู้ หรือรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ได้แก่ อุปาทานขันธ์ 5 กล่าวคือ ทุกข์และสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในจำพวกที่เป็นปัญหาหรือเป็นที่ตั้งแห่งปัญหา — Pariññeyya-dhamma: things to be fully understood, i.e. the five aggregates of existence subject to clinging)
  2. ปหาตัพพธรรม = ธรรมที่เข้ากับกิจในอริยสัจจ์ข้อที่ 2 คือ ปหานะ (ธรรมอันพึงละ, สิ่งที่จะต้องแก้ไขกำจัดทำให้หมดไป ว่าโดยต้นตอรากเหง้า ได้แก่ อวิชชา และภวตัณหา กล่าวคือธรรมจำพวกสมุทัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเป็นสาเหตุของทุกข์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า อกุศลทั้งปวง — Pahātabba-dhamma: things to be abandoned, i.e. ignorance and craving for being)
  3. สัจฉิกาตัพพธรรม = ธรรมที่เข้ากับกิจในอริยสัจจ์ข้อที่ 3 คือ สัจฉิกิริยา (ธรรมอันพึงประจักษ์แจ้ง, สิ่งที่ควรได้ควรถึงหรือควรบรรลุ ได้แก่ วิชชา และวิมุตติ เมื่อกล่าวโดยรวบยอดคือ นิโรธ หรือนิพพาน หมายถึงธรรมจำพวกที่เป็นจุดหมาย หรือเป็นที่ดับหายสิ้นไปแห่งทุกข์หรือปัญหา — Sacchikātabba-dhamma: things to be realized, i.e. true knowledge and freedom or liberation)
  4. ภาเวตัพพธรรม = ธรรมที่เข้ากับกิจในอริยสัจจ์ข้อที่ 4 คือ ภาวนา (ธรรมอันพึงเจริญหรือพึงปฏิบัติบำเพ็ญ, สิ่งที่จะต้องปฏิบัติหรือลงมือทำ ได้แก่ ธรรมที่เป็นมรรค โดยเฉพาะสมถะและวิปัสสนา กล่าวคือ ประดาธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติหรือเป็นวิธีการที่จะทำหรือดำเนินการเพื่อให้บรรลุจุดหมายแห่งการสลายทุกข์หรือดับปัญหา — Bhāvetabba-dhamma: things to be developed, i.e. tranquillity and insight, or, in other words, the Noble Eightfold Path)

ม.อุ.14/829/524; สํ.ม.19/291–5/78;องฺ.จตุกฺก.21/254/333.
M.III.289; S.V.52; A.II.246.

หมวดธรรม: จตุกกะ — หมวด 4 — Groups of Four (including related groups)
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม — พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)