ธาตุกัมมัฏฐาน 4 (กรรมฐานคือธาตุ, กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์ คือกำหนดพิจารณากายนี้แยกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุสี่แต่ละอย่าง ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา — Dhātu-kammaṭṭhāna: meditation on the elements; meditation subject consisting of elements)
- ปฐวีธาตุ (Paṭhavī-dhātu: the earth-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะแข้นแข็งเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
- อาโปธาตุ (Āpo-dhàtu: the water-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะเอิบอาบเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
- เตโชธาตุ (Tejo-dhātu: the fire-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะร้อน ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวายไฟที่ยังอาหารให้ย่อย หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะร้อนเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
- วาโยธาตุ (Vāyo-dhātu: the air-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะพัดผันเคร่งตึง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปตามตัว ลมหายใจ หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะพัดผันไปเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
ตัวอย่างธาตุที่แสดงข้างต้นนี้ ในปฐวีธาตุมี 19 อย่าง ในอาโปธาตุมี 12 อย่าง เติมมัตถลุงค์คือมันสมอง เข้าเป็นข้อสุดท้ายในปฐวีธาตุ รวมเป็น 32 เรียกว่า อาการ 32 หรือ ทวัตติงสาการ (มัตถลุงค์ไม่มีในปฐวีธาตุ 19 อย่าง เพราะรวมเข้าในอัฏฐิมิญชะ คือเยื่อในกระดูก)
ธาตุกัมมัฏฐานนี้ เรียกอย่างอื่นว่า ธาตุมนสิการ (การพิจารณาธาตุ — Dhātu-manasikāra: contemplation on the elements) บ้าง จตุธาตุววัฏฐาน (การกำหนดธาตุสี่ — Catudhātuvavaṭṭhāna: determining of the four elements) บ้าง เมื่อพิจารณากำหนดธาตุ 4 ด้วยสติสัมปชัญญะ มองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไปในกาย ตระหนักว่ากายนี้ก็สักว่ากาย มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ดังนี้ จัดเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานส่วนหนึ่ง (หมวดที่ 5 คือ ธาตุมนสิการบรรพ).
ที.ม.10/278/329; ม.มู.12/342/350; ม.อุ.14/684–7/437; วิสุทฺธิ.2/161.
D.II.294; M.I.185; M.III.240; Vism.347.ธาตุกัมมัฏฐานนี้ เรียกอย่างอื่นว่า ธาตุมนสิการ (การพิจารณาธาตุ — Dhātu-manasikāra: contemplation on the elements) บ้าง จตุธาตุววัฏฐาน (การกำหนดธาตุสี่ — Catudhātuvavaṭṭhāna: determining of the four elements) บ้าง เมื่อพิจารณากำหนดธาตุ 4 ด้วยสติสัมปชัญญะ มองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไปในกาย ตระหนักว่ากายนี้ก็สักว่ากาย มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ดังนี้ จัดเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานส่วนหนึ่ง (หมวดที่ 5 คือ ธาตุมนสิการบรรพ).
ที.ม.10/278/329; ม.มู.12/342/350; ม.อุ.14/684–7/437; วิสุทฺธิ.2/161.
หมวดธรรม: จตุกกะ — หมวด 4 — Groups of Four (including related groups)
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม — พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)