สันโดษ 3 และ 12 (ความยินดี, ความพอใจ, ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม, ความยินดีด้วยปัจจัยสี่ตามมีตามได้, ความรู้จักอิ่มรู้จักพอ — Santosa, Santuṭṭhi: contentment; satisfaction with whatever is one’s own)
- ยถาลาภสันโดษ (ยินดีตามที่ได้, ยินดีตามที่พึงได้ คือ ตนได้สิ่งใดมา หรือเพียรหาสิ่งใดมาได้ เมื่อเป็นสิ่งที่ตนพึงได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหน ก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้องชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาของที่คนอื่นได้ ไม่ริษยาเขา — Yathālābha-santosa: contentment with what one gets and deserves to get)
- ยถาพลสันโดษ (ยินดีตามกำลัง คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลัง ตนมีหรือได้สิ่งใดมาอันไม่ถูกกับกำลังร่างกายหรือสุขภาพ เช่น ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตที่แสลงต่อโรคของตน หรือเกินกำลังการบริโภคใช้สอย ก็ไม่หวงแหนเสียดายเก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ยอมสละให้แก่ผู้อื่นที่จะใช้ได้ และรับหรือแลกเอาสิ่งที่ถูกโรคกับตนแต่เพียงที่พอแก่กำลังการบริโภคใช้สอยของตน — Yathābala-santosa: contentment with what is within one’s strength or capacity)
- ยถาสารุปปสันโดษ (ยินดีตามสมควร คือ ยินดีตามที่เหมาะสมกับตน อันสมควรแก่ภาวะฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุไม่ปรารถนาสิ่งของอันไม่สมควรแก่สมณภาวะ หรือภิกษุบางรูปได้ปัจจัยสี่ที่มีค่ามาก เห็นว่าเป็นสิ่งสมควรแก่ท่านผู้ทรงคุณสมบัติน่านับถือ ก็นำไปมอบให้แก่ท่านผู้นั้น ตนเองใช้แต่สิ่งอันพอประมาณ หรือภิกษุบางรูปกำลังประพฤติวัตรขัดเกลาตน ได้ของประณีตมา ก็สละให้แก่เพื่อนภิกษุรูปอื่นๆ ตนเองเลือกหาของปอนๆ มาใช้ หรือตนเองมีโอกาสจะได้ลาภอย่างหนึ่ง แต่รู้ว่าสิ่งนั้นเหมาะสมหรือเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อื่นที่เชี่ยวชาญถนัดสามารถด้านนั้น ก็สละให้ลาภถึงแก่ท่านผู้นั้น ตนรับเอาแต่สิ่งที่เหมาะสมกับตน — Yathāsāruppa-santosa: contentment with what is befitting)
สันโดษ 3 นี้ เป็นไปในปัจจัย 4 แต่ละอย่าง จึงรวมเรียกว่า สันโดษ 12
อนึ่ง สันโดษ 3 นี้ เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งมุ่งแสดงข้อปฏิบัติของพระภิกษุโดยเฉพาะ ปรากฏในอรรถกถาและฎีกามากมายไม่น้อยกว่า 10 แห่ง คฤหัสถ์พึงพิจารณาประพฤติปฏิบัติตามสมควร.
อนึ่ง สันโดษ 3 นี้ เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งมุ่งแสดงข้อปฏิบัติของพระภิกษุโดยเฉพาะ ปรากฏในอรรถกถาและฎีกามากมายไม่น้อยกว่า 10 แห่ง คฤหัสถ์พึงพิจารณาประพฤติปฏิบัติตามสมควร.
ที.อ.1/253; ม.อ.2/188; องฺ.อ.1/81; ขุทฺทก.อ.159; อุ.อ.288; ฯลฯ.
AA.I.45; KhA.145; UdA.229; etc.
หมวดธรรม: ติกะ — หมวด 3 — Groups of Three (including related groups)
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม — พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)