วิรัติ 3 (การเว้นจากทุจริต, การเว้นจากกรรมชั่ว — Virati: abstinence)
- สัมปัตตวิรัติ (เว้นสิ่งประจวบเฉพาะหน้า, เว้นเมื่อประสบซึ่งหน้า หรือเว้นได้ทั้งที่ประจวบโอกาส คือ ไม่ได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน ไม่ได้สมาทานสิกขาบทไว้เลย แต่เมื่อประสบเหตุที่จะทำชั่ว นึกคิดพิจารณาขึ้นได้ในขณะนั้นว่า ตนมีชาติตระกูล วัย หรือคุณวุฒิอย่างนี้ ไม่สมควรกระทำกรรมเช่นนั้น แล้วงดเว้นเสียได้ไม่ทำผิดศีล — Sampatta-virati: abstinence as occasion arises; abstinence in spite of opportunity)
- สมาทานวิรัติ (เว้นด้วยการสมาทาน คือ ตนได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน โดยได้รับศีล คือ สมาทานสิกขาบทไว้แล้ว ก็งดเว้นตามที่ได้สมาทานนั้น — Samādāna-virati: abstinence by undertaking; abstinence in accordance with one’s observances)
- สมุจเฉทวิรัติ หรือ เสตุฆาตวิรัติ (เว้นด้วยตัดขาด หรือด้วยชักสะพานตัดตอนเสียทีเดียว, เว้นได้เด็ดขาด คือ การงดเว้นความชั่ว ของพระอริยะทั้งหลาย อันประกอบด้วยอริยมรรคซึ่งขจัดกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่วนั้นๆ เสร็จสิ้นแล้ว ไม่เกิดมีแม้แต่ความคิดที่จะประกอบกรรมชั่วนั้นเลย — Samuccheda-virati, Setughàta-virati: abstinence by rooting out)
วิรัติ 2 อย่างแรก ยังไม่อาจวางใจได้แน่นอน วิรัติข้อที่ 3 จึงจะแน่นอนสิ้นเชิง.
ที.อ.1/377; ขุทฺทก.อ.156; สงฺคณี.อ.188.
DA.I.305; KhA.142; DhsA.103.
หมวดธรรม: ติกะ — หมวด 3 — Groups of Three (including related groups)
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม — พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)