ภาวนา 3 (การเจริญ หมายถึงการเจริญกรรมฐานหรือฝึกสมาธิขั้นต่างๆ — Bhāvanā: stages of meditation)
- บริกรรมภาวนา (ภาวนาขั้นบริกรรม, ฝึกสมาธิขั้นตระเตรียม ได้แก่การถือเอานิมิตในสิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น เพ่งดวงกสิณ หรือนึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจ เป็นต้น กล่าวสั้นๆ คือ การกำหนดบริกรรมนิมิตนั่นเอง — Parikamma-bhāvanā: preliminary stage of meditation) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
- อุปจารภาวนา (ภาวนาขั้นจวนเจียน, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอุปจาร ได้แก่ เจริญกรรมฐานต่อไปถึงขณะที่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นในกรรมฐานที่เพ่งวัตถุก็ดี นิวรณ์สงบไปในกรรมฐานประเภทนึกเป็นอารมณ์ก็ดี นับแต่ขณะนั้นไปจัดเป็นอุปจารภาวนา — Upacāra-bhāvanā: proximate stage of meditation) ขั้นนี้เป็น กามาวจรสมาธิ ได้ในกรรมฐานทั้ง 40; อุปจารภาวนา สิ้นสุดแค่โคตรภูขณะ ในฌานชวนะ
- อัปปนาภาวนา (ภาวนาขั้นแน่วแน่, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอัปปนา ได้แก่ เสพปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน คือ ถัดจากโคตรภูขณะในฌานชวนะเป็นต้นไป ต่อแต่นั้นเป็นอัปปนาภาวนา — Appanā-bhāvanā: concentrative or attainment stage of meditation) ขั้นนี้เป็น รูปาวจรสมาธิ ได้เฉพาะในกรรมฐาน 30 คือ หัก อนุสสติ 8 ข้างต้น ปฏิกูลสัญญา 1 และ จตุธาตุววัตถาน 1 ออกเสีย คงเหลือ อสุภะ 10 และ กายคตาสติ 1 (ได้ถึงปฐมฌาน) อัปปมัญญา 3 ข้อต้น (ได้ถึงจตุตถฌาน) อัปปมัญญาข้อท้ายคือ อุเบกขา 1 กสิณ 10 และ อานาปานสติ 1 (ได้ถึงปัญจมฌาน) อรูป 4 (ได้อรูปฌาน)
Comp.203.
หมวดธรรม: ติกะ — หมวด 3 — Groups of Three (including related groups)
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม — พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)