ไตรลักษณ์ (ลักษณะ 3, อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมาย 3 อย่าง อันให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมัน — Tilakkhaṇa: the Three Characteristics)
- อนิจจตา (ความเป็นของไม่เที่ยง — Aniccatā: impermanence; transiency)
- ทุกขตา (ความเป็นทุกข์ — Dukkhatā: state of suffering or being oppressed)
- อนัตตตา (ความเป็นของไม่ใช่ตน — Anattatā: soullessness; state of being not self)
- ลักษณะเหล่านี้ มี 3 อย่าง จึงเรียกว่า ไตรลักษณ์
- ลักษณะทั้ง ๓ นี้ มีแก่สิ่งทั้งหลายเป็นสามัญเสมอเหมือนกัน คือ ทุกอย่างที่เป็นสังขตะ เป็นสังขาร ล้วนไม่เที่ยง (อนิจจา) คงทนอยู่มิได้ (ทุกขา) เสมอเหมือนกันทั้งหมด ทุกอย่างที่เป็นธรรม ทั้งสังขตะคือสังขาร และอสังขตะคือวิสังขาร ล้วนมิใช่ตน ไม่เป็นอัตตา (อนัตตา) เสมอกันทั้งสิ้น จึงเรียกว่า สามัญลักษณะ หรือ สามัญลักษณ์ (Sāmañña-lakkhaṇa: the Common Characteristics)
- ลักษณะทั้ง 3 เหล่านี้ ปรากฏอยู่ตามธรรมดาที่แน่นอน เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือ ธรรมนิยาม
- ไตรลักษณ์ ก็ดี สามัญลักษณ์ ก็ดี เป็นคำในชั้นอรรถกถา ส่วนในพระไตรปิฎก ลักษณะ 3 อย่างนี้ อยู่ในหลัก ธรรมนิยาม
S.IV.1; Dh.277–9.
หมวดธรรม: ติกะ — หมวด 3 — Groups of Three (including related groups)
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม — พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)